บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

ธรรมกายไม่มีในพระไตรปิฎก

คุณสมเจตได้ตั้งคำถามขึ้นว่า “คำว่า "วิชชาธรรมกาย" ไม่มีในพระไตรปิฎก” แล้วคุณสมเจตก็ตอบดังนี้

คำว่า "วิชชาธรรมกาย" ไม่มีในพระไตรปิฎก ซึ่งคำนี้ก็ไม่มีจริงๆ ครับ แต่เราต้องแยกคำว่า "วิชชา" กับ "ธรรมกาย" ออกจากกัน

คำว่า "ธรรมกาย" คงไม่ต้องพูดซ้ำเพราะได้กล่าวไว้ในหัวข้อ "หลักฐานเรื่องธรรมกาย"  แล้วว่ามีอยู่หลายที่ และพอจะทราบอยู่แล้วว่าอยู่ที่ไหนบ้าง

ส่วนคำว่า "วิชชา" แปลว่า ความรู้แจ้ง ดังนั้น ความรู้อะไรที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน เราจึงเรียกว่า วิชชาได้ทั้งสิ้น

เช่น เราอาจเรียก "วิปัสนาวิชชา" ก็ได้ เหมือนใช้คำว่าวิชาเรียกวิชาการทางโลกเช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาศีลธรรม ฯลฯ

วิชชาธรรมกาย ก็รวมถึงทั้ง วิชชา 3 วิชชา 8 ในพระพุทธศาสนานั่นเอง เพราะทุกๆ "วิชชา" ทางพระพุทธศาสนาต้องใช้ธรรมกายศึกษาทั้งสิ้น

แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านเรียกรวมๆว่า วิชชาธรรมกาย เพราะท่านใช้ธรรมกายค้นคว้าวิชชาใหม่ๆนอกจากวิชชา 3 วิชชา 8 ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ด้วย

ตรงนี้ ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า วิชชาอะไรบ้างเพราะท่านไม่เปิดเผย จะรู้ก็รู้เพียงเลาๆ เท่านั้น

แต่เรื่องนี้ เราต้องเข้าใจว่าความรู้หรือวิชชาต่างๆ ที่พระพุทธเจ้านำมาสอนเทียบกับความรู้ที่ท่านตรัสรู้นั้น เปรียบเหมือนใบไม้ในหนึ่งกำมือ เมื่อเทียบกับใบไม้ในป่าใหญ่เท่านั้น

แต่หลวงพ่อท่านมีความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่ท่านจึงต้องรู้วิชชาให้มาก โดยค้นเข้าไปๆ จนกว่าความปรารถนาของท่านจะบรรลุผล  และขออย่ามองว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำจะเก่งเหนือกว่าพระพุทธเจ้านะครับ

ท่านเป็นแค่สาวกคนหนึ่งในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ให้รู้ว่าความปรารถนาท่านยิ่งใหญ่ไม่เหมือนใครก็แล้วกันครับ

ที่ต้องทิ้งท้ายตรงนี้ เพราะคนที่ไม่รู้ชอบหาว่า ผู้ปฏิบัติสายธรรมกายยกย่องให้หลวงพ่อเหนือกว่าพระพุทธเจ้า ซึ่งยืนยันว่าไม่จริงครับ

ตราบใดที่เรายังไม่เชื่อว่า มีกายในกาย ก็จะคิดว่าธรรมกายนั้นไม่ใช่พุทธศาสนา เป็นลัทธิใหม่ เป็นมิจฉาสมาธิ เป็นแค่นิมิต เป็นพวกนอกรีตนอกรอย ฯลฯ

ขออธิบายเรื่องกายในกายอีกซักเล็กน้อย  เรื่องกายในกายนี้ ใช่ว่าในพระไตรปิฎกจะไม่ได้พูดถึง ในสติปัฏฐาน 4 พูดไว้ชัดเจนเลยว่า ให้พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต  ธรรมในธรรม 

เมื่อท่านบอกให้พิจารณากายในกายความหมายก็ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว ว่าให้พิจารณากายในกายไปเรื่อยๆ แสดงว่า ในกายหนึ่งก็มีอีกกายหนึ่ง มีไม่รู้จบ กายแต่ละกายก็มีเวทนา จิต ธรรม ของกายนั้น

ซึ่งก็ตรงกับหลักวิชชาธรรมกาย ที่เข้ากลางไปเรื่อยๆ ก็จะเจอกายต่างๆ ไม่รู้จบ กายที่อยู่ภายในก็จะละเอียด บริสุทธิ์ กว่ากายที่อยู่ภายนอก ดีกว่า สุขกว่า ประณีตกว่า เป็นชั้นๆ ไปอย่างนี้

การเข้ากลาง กลางก็คือศูนย์กลางกาย เป็นทางไปนิพพาน ที่ท่านว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือที่เราแปลว่า เส้นทางสายกลางนั่นแหละ

ทางสายกลางนี้ มีความหมายควบทั้งสองอย่าง ทั้งทางหยาบและละเอียด ทางหยาบคือต้องไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ต้องพอดีๆ

ความหมายรวมทั้งกายและใจ กายก็ต้องไม่หย่อนไปทางด้านกามสุขมาก ไม่เคร่งไปทางทรมานกายมาก กายต้องสบายๆ ใจก็ต้องไม่วางใจเบาไปหย่อนไป ไม่ตั้งใจมากไปเครียดไป นี่เป็นความหมายทางหยาบ

ความหมายทางละเอียด คือ ทางไปมันอยู่ที่ศูนย์กลางกาย (ศูนย์กลางกายอยู่เหนือสะดือ 2 นิ้วมือ) เพราะถ้าไม่วางใจที่นี่ก็ไม่เจอธรรมกายนั่นเอง

นี่ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ให้นาค (เป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดหนึ่ง) บวช แม้นาคจะมีฤทธิ์แปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ แต่กายจริงๆ ของเขาเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ศูนย์กลางกายจึงไม่ได้อยู่เหนือสะดือสองนิ้วมือเหมือนมนุษย์

แม้บวชก็ไม่สามารถบรรลุธรรม ท่านจึงห้ามบวช (มีระบุตอนขอบวช อุปัชฌาย์จะถามว่า มนุโสสิ เป็นมนุษย์หรือเปล่า เพราะจริงๆ ไม่น่าถาม เพราะตาก็เห็นอยู่แล้วว่าเป็นมนุษย์)

ข้อนี้ จะเห็นว่าถ้ามัชฌิมาปฏิปทา มีความหมายแค่หยาบๆ นาคก็ต้องบรรลุธรรมได้แน่นอน เพราะนาค ก็ทำทาน รักษาศีล ทำภาวนาได้ แถมกิเลสบางทีเบาบางกว่ามนุษย์เสียอีก

ไปนิพพานมันเลยยากอย่างนี้  เพราะถ้าไปง่ายๆ พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องสั่งสมบารมีอย่างน้อยตั้ง 20, 40, 80 อสงไขย

ยุคสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ตามหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎก ก็ปรากฏมี ดาบส ฤาษีมากมายบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน

ฤาษีเหล่านั้น ก็สละแล้วซึ่งกาม บางรูปก็ไม่ได้ทรมานกายอะไร เหมือนดังพระเวสสันดร หากมัชฌิมาปฏิปทา มีความหมายแค่การดำรงตน ไม่ให้ตึงไม่ให้หย่อนเกินไป

พระเวสสันดร เอย อาฬารดาบสเอย อุทกดาบสเอย คงไปนิพพานได้ไม่ยาก เพราะแต่ละท่านก็เห็นทุกภัย ในวัฏฏสงสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้ออกบวช

แต่ที่อาจารย์ทั้งสองไม่บรรลุก็เพราะไม่รู้ที่จดใจหรือที่วางใจหรือฐานที่ตั้งของใจนั่นเอง ดังมีปรากฏในพระไตรปิฎกหลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว

คนแรกที่พระพุทธเจ้าคิดจะไปโปรดไม่ใช่ปัญจวัคคีย์  แต่เป็นอาฬารดาบสกับอุทกดาบสต่างหาก ทำไมท่านคิดอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ปัญจวัคคีย์เคยปวารณาท่านไว้ก่อนด้วยซ้ำว่าถ้าบรรลุธรรมให้สอนพวกท่านก่อน

ก็เพราะว่าอาจารย์เก่าทั้งสองของท่าน ได้บรรลุแล้วถึงฌาน 7 ฌาน 8 แสดงว่าจิตเป็นสมาธิแล้วดีมาก แต่วางใจไม่ถูกที่จึงติดแค่อรูปฌานไม่พบพระธรรมกาย เมื่อไม่พบธรรมกายก็ไม่บรรลุมรรคผลนิพพาน

ท่านจึงคิดว่าสองท่านนี้มีกิเลสเบาบางแล้วมาก แค่แนะนิดหน่อยคงบรรลุธรรมไม่ยาก แต่ท่านทั้งสองได้ตายไปเป็นอรูปพรหมเสียก่อน (คิดว่าตัวเองบรรลุนิพพานเหมือนกัน)  ท่านอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นพระอริยะสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาแทน

วิพากษ์วิจารณ์

อ่านแล้วโคตรเหนื่อยขึ้นไปอีก  ถึงบทความนี้แล้ว ผมฟันธงไปเลยว่า คุณสมเจตไม่ควรเขียนบทความชุดนี้เลย เพราะ ความรู้ไม่พอ

ข้อเขียนของคุณสมเจตนี้ ดีไม่ดีเป็นการโจมตีวิชาธรรมกายหนักหนาสาหัสมากกว่าพวกด่าวิชาธรรมกายเสียอีก

เพราะ คนอ่านเห็นว่า คุณสมเจตเข้าข้างวิชาธรรมกาย ก็จะนึกว่า ข้อเขียนทั้งหมดถูกต้อง ถ้ามีใครคิดอย่างนั้น  คุณสมเจตซวยแน่ เพราะ เป็นกรรมชั่วแบบหนึ่งที่ได้โดยไม่คาดคิด

เรื่องนี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ดีอย่างหนึ่ง และเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนในสายวิชาธรรมกาย คือ มีคนโง่อยากจะช่วยวิชาธรรมกายจริงๆ

แต่มันโง่ การที่มันจะช่วย เลยเป็นการโจมตีไป ตัวอย่างชัดๆ ก็กรณีของคุณสมเจตนี่แหละ

เรื่องวิชาธรรมกายไม่มีในพระไตรปิฎก ผมเขียนไว้แล้วในบล็อกนี้นี่แหละ หาอ่านเอาเอง






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น